อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
แหล่งท่องเที่ยว
❤ เทพามีอะไรมากกว่าที่คิด ❤

ประวัติอำเภอ

             ความเป็นมา ในสมัยโบราณ อำเภอเทพา มีฐานะเป็นเมืองเทพา จัดอยู่ในระดับ “เมืองจัตวา” และมีเมืองจะนะ(อำเภอจะนะปัจจุบัน )ต่างเป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อเมืองพัทลุง ทุกๆ ปี เจ้าเมืองจะต้องนำต้นไม้เงินต้นไม้ทองไปถวายเจ้าเมืองพัทลุงเป็นประจำ

             ปี พ.ศ. 2539 ในรัชสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงโปรดให้ยกเมืองเทพาและเมืองจะนะ ขึ้นกับเมืองสงขลา ซึ่งเป็นเมืองตรี 

             ปี พ.ศ. 2444 สมัยรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปรับปรุงบ้านเมือง การปกครองหัวเมืองต่าง ๆ และได้ทรงจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น โดยแยกเมืองเทพาและเมืองจะนะออกจากเมืองสงขลา ตั้งขึ้นเป็นอำเภอเรียกว่า “อำเภอเทพา” (ไม่รวมอำเภอจะนะ) ขึ้นกับจังหวัดสงขลา โดยตั้งที่ว่าการอำเภอที่บ้านพระพุทธ ยึดเอาทะเลใกล้แม่น้ำเทพาทะเลหลวงด้านตะวันออก ซึ่งการคมนาคมทางบกยังไม่สะดวก ต้องอาศัยทางเรือเป็นส่วนใหญ่ จึงได้ยึดบ้านพระพุทธ หมู่ที่ 2 บ้านพระพุทธ ตำบลเทพา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งอำเภอในสมัยนั้น 

             ปี พ.ศ. 2475 บ้านเมืองเจริญขึ้น การคมนาคมสะดวก มีรถไฟผ่านท้องที่อำเภอเทพา ทางราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเทพาจากบ้านพระพุทธ หมู่ที่ 2 ตำบลเทพา มาตั้งที่บ้านท่าพรุ หมู่ที่ 1 ตำบลเทพา ซึ่งใกล้กับสถานีรถไฟ “ท่าม่วง“ ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนชื่อสถานี ”ท่าม่วง” เป็นสถานี “เทพา” ให้ตรงกับคำว่า “อำเภอเทพา” ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเทพา ประมาณ 1 กิโลเมตร

             ที่ว่าการอำเภอเทพา เดิมตัวอาคารก่อสร้างไม้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 , ปี พ.ศ. 2515 กรมการปกครองได้อนุมัติเงินงบประมาณทำการก่อสร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้น ตามแบบแปลนของกรมโยธาธิการ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2516 และ ปี พ.ศ. 2548 กรมการปกครองได้อนุมัติเงินงบประมาณ เป็นเงิน 8,029,718.- บาท ทำการก่อสร้าง ตามแบบแปลนมาตรฐานกรมโยธาธิการ เลขที่ ม.18155

ที่ตั้งและอาณาเขต

            อำเภอเทพา เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสงขลาตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ที่ว่าการอำเภอเทพาตั้งอยู่ที่บ้านท่าพรุ หมู่ที่ 1 ตำบลเทพา อำเภอเทพา อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดสงขลา  ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสงขลา 73 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร 1,056 กิโลเมตร มีเส้นทางรถไฟผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอ

             อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อกับทะเลหลวง(อ่าวไทย)                             ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอหนองจิก และอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี                             ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสะบ้าย้อยและอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา                             ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา